วันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2551

บทความ เรื่องภาษา วัฒนธรรม กับการวิจัย

ภาษา วัฒนธรรม กับการวิจัย

ภาษามีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม...
อย่างยากที่จะมีการแยกออกจากกันได้

มนุษย์ต้องใช้ภาษาในการถ่ายทอดวัฒนธรรม และเป็นสื่อที่ใช้ในการสื่อสารกันระหว่างในกลุ่มสังคมเดียวกัน อาจจะกล่าวได้ว่า ภาษาเป็นสิ่งแวดล้อมที่แสดงถึงแนวความคิด ค่านิยม และความนิยมในการกระทำต่างๆ ที่หมู่คนนั้นๆ ยอมรับ
สุพัตรา (2521) กล่าวไว้ในหนังสือสังคมวิทยาว่า วัฒนธรรมมีความหมายครอบคลุมถึงทุกสิ่ง ทุกอย่าง ที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตของมนุษย์ในสังคมของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือสังคมใดสังคมหนึ่ง มนุษย์ได้คิดสร้างระเบียบ กฎเกณฑ์ วิธีในการปฏิบัติ การจัดระเบียบตลอดจนระบบความเชื่อ ความนิยม ความรู้ และเทคโนโลยีต่างๆ ในการควบคุมและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ
Barry & Susan (1998) ในหนังสือ Cultural Awareness กล่าวถึงวัฒนธรรม (Culture ที่ขึ้นต้นด้วยอักษร C ตัวใหญ่) มักหมายถึง ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สถาบันต่างๆ วรรณคดี ศิลปะ ดนตรี และวิธีการดำเนินชีวิต ส่วนวัฒนธรรม (culture ที่ขึ้นต้นด้วยอักษร c ตัวเล็ก) จะหมายถึงวัฒนธรรมทางพฤติกรรมที่มีความหมายครอบคลุมถึงอิทธิพลความเชื่อและการรับรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่แสดงออกผ่านทางภาษา
ซึ่งหากจะถามว่าวัฒนธรรมหมายถึงอะไร คนส่วนใหญ่จะให้คำตอบที่สามารถจำแนกได้ตามตัวอย่างดังภาพข้างล่างนี้







ภาษากับวัฒนธรรม
ภาษามีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอย่างยากที่จะมีการแยกออกจากกันได้ Brown (2002) กล่าวไว้ในหนังสือ Methodology in Language Teaching ว่า ครูผู้สอนภาษาควรสอนวัฒนธรรม ค่านิยม ความคิด ความรู้สึกและการแสดงออกด้วยทุกครั้งควบคู่ไปกับการสอน ตั้งแต่การทักทาย การรับประทานอาหาร การดำเนินชีวิต และการกล่าวคำลาจาก เช่น ในวัฒนธรรมอเมริกันมีการทักทายด้วยการจับมือ ซึ่งคนไทยควรเข้าใจด้วยว่า หากฝ่ายหญิงไม่ได้ยื่นมือให้ก่อน ฝ่ายชายก็ไม่ควรยื่นมือเพื่อให้ฝ่ายหญิงจับ และถ้าการที่ฝ่ายชายยื่นมือให้ฝ่ายหญิงก่อน ตามมารยาทแล้วฝ่ายหญิงมีสิทธิที่จะไม่จับมือฝ่ายชายก็ได้ ไม่เป็นการผิดธรรมเนียมแต่อย่างใด การจับมือนั้นควรจับอย่างพอดีไม่แน่นเกินไปที่สื่อถึงความก้าวร้าว และไม่หลวมเกินไปที่สื่อถึงความเหมือนกับไม่ค่อยจริงใจต่อกัน
การยิ้มเป็นลักษณะการทักทายในวัฒนธรรมไทย การที่หญิงสาวส่งยิ้มและกล่าวคำทักทายให้กับชายหนุ่มก่อนเป็นการแสดงความเป็นมิตร ความรู้จักคุ้นเคย และเป็นการยอมรับความสัมพันธ์กันมากกว่าปกติธรรมดา สาวไทยมักจะไม่ยิ้มกับหนุ่มที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ถึงแม้หนุ่มคนนี้จะมาจ้องมองเธอหรือส่งยิ้มให้เธอก่อนก็ตาม ดังนั้นการยิ้มให้และการทักทายสำหรับสาวไทยและหนุ่มไทยจึงสื่อความหมายตามทำนองที่กล่าวมาแล้วถ้าสาวไทยคนไหนเดินไปสบตากับหนุ่มที่ยังไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แล้วเกิดไปยิ้มให้พร้อมกับทักทาย หนุ่มไทยมักเหมาเอาว่าเธอทอดสะพานให้ หรือพูดอย่างชัดๆก็ว่า“ให้ท่ากัน”
แต่ในวัฒนธรรมของฝรั่งที่อเมริกา การยิ้มและการที่หญิงสาวเป็นฝ่ายทักชายหนุ่มขึ้นก่อนว่า “สวัสดีค่ะ” (Hi) มิได้สื่อความหมายอะไรมากกว่าการทักทายอย่างปกติธรรมดา สาวอเมริกันมักยิ้มและทักทายหนุ่มเช่นนี้เสมอเมื่อมีโอกาสสบตากัน ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้จักกันมาก่อน และไม่ได้หมายถึงการทอดสะพานหรือการให้ท่าแต่ประการใดทั้งสิ้น หนุ่มไทยที่เพิ่งไปอเมริกาใหม่ ๆ ยังไม่เข้าใจว่าการใช้ภาษาท่าทางนั้นต้องพิจารณาดูความหมายในวัฒนธรรมของเขาก่อน พอสาวอเมริกันยิ้มให้พร้อมทักทายด้วยท่าทางเป็นกันเอง หนุ่มไทยก็เหมาเอาตามภาษาท่าทางในวัฒนธรรมไทยว่า เจ้าหล่อนทอดสะพานให้หรือให้ท่า จึงติดตามจีบเป็นพัลวัน ซึ่งในที่สุดส่วนมากก็จะรู้เองในภายหลังว่า การที่สาวเขายิ้มให้และกล่าวคำทักทายกับชายแปลกหน้านั้นเป็นภาษาท่าทางที่ไม่ได้รวมถึงการทอดสะพานหรือการให้ท่าอยู่เลยเหมือนอย่างใน วัฒนธรรมไทย (สุมิตร: 2524)

การสื่อความหมายที่ไม่ได้แสดงออกทางคำพูด (Nonverbal meaning)
การสื่อความหมายต่อกันมิได้กระทำได้เพียงการรับฟังเสียงที่พูดออกมาเท่านั้น แท้จริงแล้ว อากัปกิริยาที่แสดงออกโดยไม่ใช่คำพูดสามารถสื่อความหมายได้ดังกว่าคำพูดเสียอีก การประสานสายตา, การแสดงออกทางสีหน้า, การเคลื่อนไหวร่างกาย, ระยะห่าง, เวลา, ระยะทาง, ลักษณะท่าทาง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวบ่งชี้ที่มีอิทธิพลต่อการตีความหมายในการสื่อสาร นักวิจัยพบว่า เพียงแค่ร้อยละ 7 เท่านั้นที่เนื้อหามีความหมายที่แสดงมาจากคำพูด ซึ่งเป็นที่น่าตกใจว่า ผลจากการสื่อความหมายที่ไม่ได้มาจาก คำพูดมีถึงร้อยละ 93 ตามกราฟวงกลมที่แสดงให้ดูข้างล่าง










ที่มา: Alvino E. Fantini, (1977) New Ways in Teaching Culture. IL,USA

ถ้าคนพูดสื่อความหมายที่ขัดกับการแสดงออกที่ไม่ใช้คำพูด โดยทั่วไปคนจะมีแนวโน้มเชื่อการแสดงออกภาษากายมากกว่า อย่างไรก็ตาม การแสดงออกด้วยการสื่อความหมาย มักมีความหมายไม่เหมือนกันในวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เช่น การแบมือแล้วงอนิ้วชี้และนิ้วโป้งจรดปลายนิ้วมาใกล้กัน ในสหรัฐฯ หมายถึง OK ในฝรั่งเศส หมายถึง ศูนย์ ในญี่ปุ่น หมายถึงเงิน ในโมรอคโค หมายถึงผมจะฆ่าคุณ แต่ละชาติ ก็มีภาษากายเป็นของตนเอง ดังนั้น จึงต้องระมัดระวัง เพราะการแสดงออกของคุณ โดยไม่เจตนาอาจเป็นการเยาะเย้ยหรือล่วงเกินบางคนในบางประเทศ เช่น นักธุรกิจญี่ปุ่นมาจอดรถในสนามบินแห่งหนึ่งในที่เขาไม่เคยจอดมาก่อน เขาไขกระจกรถลง แล้วถามคนขับอีกคนหนึ่งที่อยู่บริเวณ ที่จอดรถนั้น ซึ่งที่จอดรถแห่งนี้บริการฟรีสำหรับชั้นธุรกิจ คนขับรถซึ่งเป็นคนอเมริกันตอบโดยใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งมาจรดกันที่ปลาย ซึ่งเป็นภาษากายที่รู้จักกันว่า OK จอดได้ แต่ในญี่ปุ่นหมายถึงต้องเสียเงินค่าจอดรถ ขณะนั้น ชาวโมรอคโคคนหนึ่งกำลังมองดูคนทั้งสองสนทนาภาษากายกันคิดว่าคนอเมริกันกำลังบอกคนญี่ปุ่นว่า ผมจะฆ่าคุณ








อีกตัวอย่างหนึ่งคือผู้หญิงชาวอิตาลีคนหนึ่งที่อยู่ในห้องผู้โดยสารขาออก ถามคนอังกฤษว่า เก้าอี้ที่อยู่ติดกันกับที่เขานั่งอยู่ว่างไหม ซึ่งขณะนั้นว่างอยู่พอดี คนอังกฤษจึงตอบด้วยภาษากายที่เป็นธรรมดาของคนอังกฤษที่ใช้อยู่ โดยยกหัวแม่มือขึ้น แต่หญิงคนนั้นคิดว่าเขาคิดหยาบคายกับเธอ จึงซัดเขาเข้าที่ใบหน้าชายผู้โชคร้ายนั้นที่ไม่รู้เหตุผลว่าทำไม

การสัมภาษณ์ทางการวิจัย
การรวบรวมข้อมูลของนักวิจัยโดยใช้วิธีสัมภาษณ์ เป็นการรวบรวมข้อมูลในลักษณะที่ผู้รวบรวมข้อมูลมีโอกาสสื่อสารโดยการพบปะ พูดคุย สนทนากับผู้ให้ข้อมูลโดยตรง ผู้สัมภาษณ์เป็นผู้พูดให้ข้อมูลมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยผู้สัมภาษณ์อย่าแย่งพูดเสียเองและควรให้ผู้ถูกสัมภาษณ์มีการพักบ้างหากการสัมภาษณ์ใช้เวลานาน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย สำหรับภาษาพูดทั่วๆ ไป ให้สังเกตระดับเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนท้ายประโยคจะแสดงออกซึ่งความต้องการของผู้พูด เช่น การพูดประชด การพูดเยาะเย้ย การถามคำถาม ฯลฯ นอกจากนั้นแล้วระดับเสียงยังถูกใช้เป็นเสมือนเครื่องหมายวรรคตอนของการพูดอีกด้วย เช่น ถ้าผู้พูดยังไม่ต้องการหยุดพูด มักจะไม่ปล่อยให้ระดับเสียงต่ำลงตอนท้ายประโยค
แต่มักจะใช้เสียงในระดับเดิม หรือใช้ระดับสูงกว่าปกติในตอนท้ายประโยค การใช้ระดับน้ำเสียงแบบนี้เป็นการสื่อสารให้คู่สนทนาทราบว่า “ผมยังพูดไม่จบคุณอย่างพึ่งแทรกขึ้นมาตอนนี้”
นอกจากคำพูดของผู้ให้สัมภาษณ์แล้ว ระหว่างการสัมภาษณ์นักวิจัยควรสังเกตสภาพแวดล้อมรอบๆ ประกอบไปด้วย ทั้งสังเกตปฏิกิริยาโต้ตอบการให้ข้อมูลทั้งที่เป็นคำพูดและภาษากายด้วย ซึ่งโดยทั่วๆ ไปแล้วเรามักจะไม่อยู่นิ่งขณะที่พูด แต่จะขยับส่วนต่างๆ ของร่างกายประกอบไปด้วยไม่มากก็น้อยในแทบจะทุกประโยคก็ว่าได้ ในหนังสือที่ชื่อว่าภาษาท่าทาง ของ ดร.สุมิตร คุณานุกร ได้กล่าวไว้ว่า การเข้าใจภาษาท่าทางเป็นศิลปะที่ถ่ายทอดได้ สามารถฝึกฝนเองได้โดยอาศัยการสังเกต แต่อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปเราจะไม่สังเกตสิ่งที่เราคิดไม่ถึงหรือไม่ยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้มีอยู่จริง เรามักคิดว่าการสื่อสารนั้นเกิดจากการใช้ภาษาพูดและภาษาเขียนเท่านั้น มีน้อยคนที่จะรับรู้ว่า ในการสื่อสารระหว่างบุคคลนั้น ยังมีภาษาที่ใช้กันอยู่เสมอที่ไม่ได้แสดงออกทางคำพูด นั่นก็คือภาษาท่าทาง อากัปกิริยาท่าทางและร่างกายของคน เราส่งภาษาอยู่ตลอดเวลา เราขมวดคิ้วเมื่อเวลาที่ไม่เข้าใจอะไรสักอย่าง เรายักไหล่เมื่อไม่เห็นความสำคัญ ไม่ยี่หระ ยักคิ้วหลิ่วตาแสดงการล้อเลียน หรือเพื่อส่งสัญญาณลับถอนหายใจแสดงความโล่งอก ฯลฯ ทั้งนี้เป็นไปโดยอัตโนมัติ ในการสัมภาษณ์พูดจากันนั้นเราควรใช้ทั้งสองภาษาคือภาษาพูดและภาษาท่าทาง และในการรับฟัง เราก็ควรฟังทั้งคำพูดและสังเกตภาษาท่าทางของผู้พูดไปด้วย ทั้งนี้เพื่อให้การสื่อความหมายและการรับความหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และถูกต้องตามความประสงค์ ทั้งนี้ข้อมูลจากการวิจัยชี้ว่าร้อยละ 65 ของการสื่อสารของเราถูกส่งออกมาโดยการไม่ได้แสดงออกทางคำพูด นั้นหมายถึงว่าเมื่อเรากำลังพูด ผู้ฟังจะรับข้อมูลจากภาษาท่าทางมากกว่า เหมือนกับสำนวนที่ว่า “Actions speak louder than words” (การกระทำเสียงดังกว่าคำพูด) (Smethurst:1986)
การสื่อความหมายที่ไม่ได้แสดงออกทางคำพูดจึงมีความสำคัญในการสัมภาษณ์ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล เพราะนักวิจัยจะต้องสังเกตเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ผู้ถูกสังเกตไม่เต็มใจที่จะเล่าออกมาเป็นคำพูด อาจเพราะไม่แน่ใจข้อเท็จจริง หรือกลัวว่าบอกแล้วจะเป็นภัยแก่ตัวเอง ซึ่งเป็นการ รวบรวมข้อมูลในเชิงคุณภาพที่รวมถึงข้อมูลจากสถานการณ์ ปรากฏการณ์ ปัญหาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ข้อมูลจากประวัติศาสตร์ รวมถึงเงื่อนไขในการดำเนินชีวิต เช่น ทางศาสนาและวัฒนธรรม เป็นต้น ทั้งนี้ การใช้ข้อมูลทางสถิติไม่ใช่เป็นทั้งหมดของการศึกษาเชิงปริมาณ แต่วัตถุประสงค์หลักของสถิติเป็นการทดสอบเพื่อยืนยันหรือขัดแย้งกับความเข้าใจเบื้องต้นในข้อมูลที่ทำการวิเคราะห์ ดังนั้นการวิจัยจึงไม่ควรยึดถือกับข้อมูลที่เป็นเชิงปริมาณหรือเชิงคุณภาพอย่างใดอย่างหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว เพราะข้อมูล
ทั้งสองอย่างมีทั้งข้อดีและข้อด้อยอยู่ในตัวเอง จึงไม่มีข้อมูลใดที่เหนือกว่า ‘Neither one is markedly superior to the other in all respects’ (Ackroyed and Hughes:1992)






ข้อจำกัดด้านภาษาของนักวิจัย
ในการดำเนินการวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ ภาษาและวัฒนธรรมมีอิทธิพลต่อความถูกต้องของข้อมูลการวิจัยอย่างสำคัญ เพราะภาษาที่ใช้ในประเทศไทยนอกจากภาษาไทยภาคกลางที่ใช้เป็นภาษาราชการแล้ว ยังมีภาษาท้องถิ่นที่ชาวบ้านใช้ในการสื่อสารกันแตกต่างกันในแต่ละภาค เช่น ภาษาถิ่นใต้ ภาษาถิ่นเหนือ ภาษาถิ่นอิสาน เป็นต้น ดังนั้น เมื่อนักวิจัยเดินทางไปเก็บข้อมูลจากชาวบ้านในหมู่บ้านแถบชายแดน ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยทางภาคใต้ที่พูดภาษายาวี หรือชายแดนทางด้านตะวันออกแถบ จังหวัดตราด ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้ภาษาเขมร หรือการเก็บข้อมูลจากชาวไทยภูเขาแถบดอยตุง จังหวัดเชียงราย ที่ชาวบ้านรู้ภาษาไทยภาคกลางอย่างจำกัดนั้น ซึ่งโดยปกตินักวิจัยจะสอบถามข้อมูลจากชาวบ้านโดยการใช้ภาษาพูดที่เข้าใจได้ง่ายเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวชาวบ้าน แต่ในกรณีเช่นนี้จำเป็นต้องใช้ล่ามมาเป็นผู้ช่วยในการเก็บข้อมูล เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ขณะเดียวกัน ก็มีความเสี่ยงจากคุณภาพการแปลของล่าม และบางครั้งปัจจัยด้านภาษาเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นตัวแปรหนึ่งใน จึงอาจจำเป็นต้องใช้วิธีว่าจ้างพนักงานเก็บรวบรวมข้อมูลจากคนในท้องถิ่นจากหมู่บ้านต่างๆ ดังนั้น การดำเนินการวิจัยจึงต้องใช้การเก็บข้อมูลจากหลากหลายวิธีประกอบเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการและเชื่อถือได้
กล่าวโดยสรุป ภาษาเป็นผลิตผลของวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น และสามารถดัดแปลงแก้ไขเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม สังคมใดที่มีคำศัพท์ต่างๆ ในด้านภาษาไม่เพียงพอในการแสดงความคิดหรือถ่ายทอดเหตุการณ์ใหม่ๆ ก็จำเป็นอยู่เองที่จะต้องยืมภาษาจากเจ้าของวัฒนธรรมใหม่นั้นมาใช้ อย่างไรก็ตาม ในทุกสังคมมีคำศัพท์เพียงพอสำหรับอธิบายสิ่งที่มีอยู่ในวัฒนธรรมของตน ถ้าจะมีภาษาแคบเกินไปหรือไม่พอก็เพราะการค้นคิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ในสังคมที่เจริญแล้วที่แพร่กระจายเข้าไปในสังคมดั้งเดิม ปัจจุบันยังไม่อาจจะกล่าวได้ว่าภาษาใดเป็นภาษาที่ใช้กันทั่วโลก เพราะขึ้นอยู่กับแต่ละภาค แต่ละส่วนของโลก นอกจากนี้ การสื่อความหมายโดยไม่ใช้คำพูดก็มีความสำคัญไม่น้อย ซึ่งผู้ใช้ควรระมัดระวังในการสื่อสารกับคนต่างวัฒนธรรม ไม่เช่นนั้นอาจเป็นปัญหา ทำให้การสื่อสารเข้าใจกันได้อย่างไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดำเนินการวิจัย ทำให้มีผลกระทบต่อการเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัยโดยใช้เครื่องมือแบบการสัมภาษณ์ ซึ่งต้องการความแม่นตรงและเชื่อถือได้



อ้างอิง

สุพัตรา สุภาพ. สังคมวิทยา.แผนกสังคมวิทยามนุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย, สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิชย์, 2521.
สุมิตร คุณานุกร. ภาษาท่าทาง. คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,โรงพิมพ์แสงรุ้งการพิมพ์, 2524.
Ackroyed, Stephen and John Hughes. Data Collection in Context. New York:
Longman.1992.
Barry Tomalin & Susan Stempleski. Cultural Awareness. Oxford University
Press,1998.
Brown, H.D. Methodology in Language Teaching: an anthology of current practice. Cambridge University Press, 2002.
Fantini, E. Alvino. New Ways in Teaching Culture. Pantagraph Printing,Blooming IL, USA.1977.
Locker, K.O. Business and Administrative Communication (Seventh Edition). The Mc Graw Hill Company, 2006.
Smethurst. A.O. “Did you see what they said ?” Air Command and Staff
collage,Maxwell AFB, AL. 1986.

-----------------------------------------------
ผู้เขียนบทความ:
นาวาเอกหญิง วิภาดา พูลศักดิ์วรสาร ตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาหลักการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการทหาร สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม
-ปริญญาโท พัฒนบริหารศาสนศาสตร์ วิชาเอกนโยบายสาธารณะและการบริหารโครงการ
คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (2529)
-ปริญญาโท ศิลปศาสตร์ สถาบันภาษา สาขาการสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2549)
-กำลังศึกษาปริญญาเอก สาขาหลักสูตรและการสอน (กลุ่มวิชาการสอนภาษาอังกฤษ)
มหาวิทยาลัยศิลปากร

ไม่มีความคิดเห็น: